เทคนิคดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงวัยทอง

วัยหมดประจำเดือน (Menopause) เป็นช่วงหนึ่งในชีวิตที่ผู้หญิงทุกคนต้องเจอ ส่วนมากจะเกิดได้ในผู้หญิงช่วงอายุ 45-55 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพ และกรรมพันธุ์ ในทางการแพทย์ผู้หญิงจะเข้าวัยหมดประจำเดือนอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อประจำเดือนหายไปอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว แต่ถ้าผู้หญิงในวัยนี้เข้าใจและปฏิบัติการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

อาการของคนวัยหมดประจำเดือน
1. ผลระยะสั้นของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากผิดปกติ อ่อนเพลีย เหนื่อยหน่าย หงุดหงิดง่าย ขี้กังวล นอนไม่หลับ หลงลืม

2. ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว มีทั้งการขาดฮอร์โมนเพศ รวมถึงกระบวนการเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น ได้แก่ ปัญหาระบบอวัยวะสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน

แนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเข้าสู่วัยทอง

1. เลือกทานอาหาร ย่อยง่าย ไขมันน้อย
ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไขมันน้อย เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงหรือสัตว์ใหญ่ เนย น้ำตาล และอาหารเค็ม เพิ่มอาหารที่มีเส้นใย แคลเซียม ดื่มนมพร่องหรือขาดมันเนยเป็นประจำ เพราะนมมีแคลเซียมธรรมชาติสามารถดูดซึมและนำไปใช้ในร่างกายได้ดี
การรับประทานอาหารที่มีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคบางอย่างได้ เช่น โรคมะเร็งของระบบสืบพันธุ์และโรคกระดูกพรุน ซึ่งไฟโตเอสโตรเจนเป็นสารคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ได้จากพืช พบมากในถั่ว เหลือง เมล็ดธัญพืช การทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองอย่างสม่ำเสมอ เป็นอีกทางเลือกของผู้ที่ไม่ต้องการใช้ฮอร์โมนทดแทน จะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบแล้วยังช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม รวมทั้งลดระดับไขมันในเลือดได้

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และเลือกประเภทที่มีการกระแทกน้อย
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพควรทำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากวัยนี้มีการเสื่อมของกระดูกและกล้ามเนื้อจึงควรเลือกการออกกำลังกายที่มีการกระแทกน้อย ลักษณะของการออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่ การเดิน วิ่งเหยาะๆ และการว่ายน้ำ ซึ่งการเลือกกิจกรรมขึ้นอยู่กับความชอบ ความสะดวก และเหมาะสมของวัย
นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน กระดูกมีความหนาแน่นมากขึ้น ป้องกันโรคกระดูกพรุน ช่วยลดความเครียดจากการทำงาน และทำให้กระชุ่มกระชวย นอนหลับได้สนิทและง่ายขึ้น ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและช่วยให้ระบบย่อยอาหารและขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้นด้วย

3.หลับให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชอบ
ควรนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ผิวพรรณจะได้ดูสดใสและรู้สึกสดชื่น นอกจากนี้ควรหางานอดิเรกทำหรือมีกิจกรรมสังสรรค์บ้างเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง นัดเจอกับเพื่อน เลือกทำกิจกรรมที่คุณชอบ และให้เวลาตัวเองได้ทำในสิ่งนั้น เป็นต้น

4.พบแพทย์ตรวจร่างกาย รับฮอร์โมนทดแทน
ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำทุกปี โดยเฉพาะการตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม การวัดค่าความหนาแน่นของกระดูก แม้ว่าวัยหมดประจำเดือนเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กับบางคนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตรวมถึงการรักษาด้วยยาหรือฮอร์โมนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ตามการได้รับฮอร์โมนทดแทนจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ โดยเฉพาะสตรีที่มีประวัติมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม เส้นเลือดสมองตีบตัน การแข็งตัวของลิ่มเลือดผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ ปวดศีรษะไมเกรน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื้องอกของมดลูก โรคลมชัก นิ่วในถุงน้ำดี สูบบุหรี่จัด